Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล

มุ่งเป้าสู่ Net Zero ให้ได้เร็วกว่า 11 ปี ก่อนปี ค.ศ. 2050


ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย หนึ่งในเครือบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศเข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) ในฐานะธุรกิจแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตาม Corporate Net-Zero Standard ที่สอดคล้องกับศาสตร์ทางภูมิอากาศ


นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย (ที่สองจากขวา) รับมอบแถบประกาศการเข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) ในฐานะธุรกิจแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ จากนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ (ที่สองจากซ้าย) ประธานสถาบันไทยพัฒน์

นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มีความยินดีที่ได้เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล หรือ Climate-Aligned Governance Alliance (CAG Alliance) ที่ริเริ่มโดยสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานด้านความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี การเข้าร่วมครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ยูนิลีเวอร์มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการดำเนินการที่เข้มข้นและหลากหลาย เช่น การจัดการขยะและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของยูนิลีเวอร์ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน

“จากความก้าวหน้าด้าน Net Zero ในโครงการต่างๆ ที่ยูนิลีเวอร์ดำเนินการอยู่ ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CTAP) ซึ่งเป็นแผนระยะใกล้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำเร็จไปแล้วกว่า 74% ขณะที่ยูนิลีเวอร์ได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไว้ในปี ค.ศ. 2039 โดยมากกว่า 70% ของมลอากาศมาจากวัตถุดิบ ส่วนผสม และบรรจุภัณฑ์ในห่วงโซ่ธุรกิจ (ขอบข่ายที่ 3) ซึ่งทีมความยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ได้ทำงานร่วมกับผู้ส่งมอบที่ส่งผลกระทบมากสุด ในการสนับสนุนให้มีการตรวจสอบและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้แก่บริษัท ซึ่งปัจจุบัน ยูนิลีเวอร์ มีผู้ส่งมอบอยู่ราว 52,000 ราย โดยในจำนวนนี้ มีกว่า 300 ราย ที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นต้นลงได้อย่างมาก ขณะที่ยังมีอีกกว่าสองในสามของกลุ่มผู้ส่งมอบ ที่ยังไม่มีเป้าหมายด้านภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ยูนิลีเวอร์จะให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป”

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธาน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “สถาบันฯ มีความยินดีที่ทาง ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ได้เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล ซึ่งริเริ่มขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายให้องค์กรได้มีเครื่องมือเพื่อช่วยในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกฎระเบียบ มาตรฐานและกรอบการดำเนินงานที่เป็นทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ และการเข้าเป็นแนวร่วมฯ นี้ ยังมีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการปรับให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ตัววัดที่ 9.4.1 ที่เป็นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ต่อหน่วยมูลค่าเพิ่ม”

ตามมาตรฐาน Corporate Net Zero ของ SBTi ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2024 กำหนดให้กิจการที่มีสัดส่วนมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เกินกว่า 40% ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยทั้งหมด จะต้องตั้งเป้าหมายระยะใกล้ (5-10 ปี) สำหรับการลดมลอากาศลงให้ได้สองในสาม (67%) ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 2 °C เป็นอย่างน้อย ขณะที่การตั้งเป้าหมายระยะยาว (ปี ค.ศ. 2050) ต้องครอบคลุมการลดมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 ให้ได้ 90% และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 °C

แนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ ที่เน้นส่งเสริมบทบาทขององค์กรธุรกิจแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตาม Corporate Net-Zero Standard ที่สอดคล้องกับศาสตร์ทางภูมิอากาศ


ข้อมูลเพิ่มเติม
คุณศิตา ศิริศักดิพร
โทรศัพท์: 02-930-5227 โทรสาร: 02-930-5228
อีเมล: info@thaipat.org



[ข่าวประชาสัมพันธ์]