Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

LHFG เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance)

มุ่งเป้าลด Scope 3 Emissions ตามมาตรฐาน Corporate Net Zero ของ SBTi


บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประกาศเข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) ในฐานะบริษัทแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตาม Corporate Net-Zero Standard ที่สอดคล้องกับศาสตร์ทางภูมิอากาศ


บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) โดยนายวรวุฒน์ โตเจริญธนาผล President (ที่สองจากขวา) และนายวิเชียร อมรพูนชัย (ขวาสุด) กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) ในฐานะบริษัทแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ โดยนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ (ที่สองจากซ้าย) ประธานสถาบันไทยพัฒน์

นายวรวุฒน์ โตเจริญธนาผล President บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) ได้เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล หรือ Climate-Aligned Governance Alliance (CAG Alliance) ที่ริเริ่มโดยสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานด้านความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องมือบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 และการรับการตรวจรับรองความก้าวหน้าการลดมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่าตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกิจการ (Corporate Net-Zero Standard)

“บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Loan) สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Transition Loan) และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan : SLL) เป็นต้น ตลอดจนการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) โดยมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 9.4 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม”

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธาน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “สถาบันฯ มีความยินดีที่บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาล ซึ่งริเริ่มขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายให้องค์กรมีเครื่องมือเพื่อช่วยในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าเป็นแนวร่วมฯ นี้ มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการปรับให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ตัววัดที่ 9.4.1 ที่เป็นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ต่อหน่วยมูลค่าเพิ่ม”

ตามมาตรฐาน Corporate Net Zero ของ SBTi ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2024 กำหนดให้กิจการที่มีสัดส่วนมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เกินกว่า 40% ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยทั้งหมด จะต้องตั้งเป้าหมายระยะใกล้ (5-10 ปี) เพื่อลดมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ลงให้ได้สองในสาม หรือ 67% ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 2°C เป็นอย่างน้อย ขณะที่การตั้งเป้าหมายระยะยาว (ปี ค.ศ. 2050) ต้องลดมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 ให้ได้ 90% เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 1.5°C

อนึ่ง แนวร่วมอุณหภิบาล (CAG Alliance) เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ ที่เน้นส่งเสริมบทบาทขององค์กรธุรกิจแนวหน้าด้านการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตาม Corporate Net-Zero Standard ที่สอดคล้องกับศาสตร์ทางภูมิอากาศ


ข้อมูลเพิ่มเติม
คุณศิตา ศิริศักดิพร
โทรศัพท์: 02-930-5227 โทรสาร: 02-930-5228
อีเมล: info@thaipat.org



[ข่าวประชาสัมพันธ์]



รู้จักกรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจ ตระกูล TxFD


การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์กำลังผลักให้โลกเผชิญกับปัญหาทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมเชิงนิเวศ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม

โลกกำลังเผชิญกับการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในทุกตัวชี้วัดคิดเป็น 2-6% ในทุก ๆ 10 ปี ตลอดห้วงเวลา 30-50 ปีที่ผ่านมา ที่ซึ่งประชากรกว่าครึ่งโลกได้รับผลกระทบ โดยตัวเลขการพึ่งพาธรรมชาติและบริการจากระบบนิเวศ ในปี ค.ศ. 2023 มีมูลค่าสูงถึง 58 ล้านล้านเหรียญ หรือมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีโลก หากมนุษย์ยังเพิกเฉยหรือชะลอการหยุดยั้งความสูญเสียในความหลากหลายทางชีวภาพ มูลค่าความสูญเสียในระยะ 10 ปี จะสูงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินการทันที

ในทางตรงข้าม หากภาคธุรกิจมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านเหรียญ และเกิดการสร้างงานราว 395 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2030 (IPBES Transformative Change Assessment, 2024)

ในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลก (WID) ในปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า รายรับของผู้มีรายได้สูงสุดในกลุ่ม 10% ของประชากรโลก กินสัดส่วนถึง 53.5% ของค่าตอบแทนรวมโลก ขณะที่รายรับของผู้มีรายได้ในกลุ่ม 50% ล่างสุด มีสัดส่วนอยู่เพียง 8% ของค่าตอบแทนรวมโลก

จะเห็นว่า ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นความเหลื่อมล้ำ ได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ส่งสัญญาณมายังภาคธุรกิจให้มีมาตรการที่ต้องดำเนินการทันที ในฐานะนิติพลโลก (Global Corporate Citizen) ซึ่งมีส่วนที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางบวกและทางลบ ในการที่จะต้องร่วมกันรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 1.5 °C เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการหยุดยั้งและฟื้นคืนความสูญเสียทางธรรมชาติ ปรับวิถีการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องปรองดองกับธรรมชาติ ตลอดจนการเจือจุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพ ความหลากหลาย ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ


ประเด็น เป้าหมาย และความริเริ่มด้านภูมิอากาศ ธรรมชาติ และความเป็นธรรม

หนึ่งในมาตรการสำหรับดำเนินการทันทีของภาคธุรกิจ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งสามประเด็นข้างต้น ซึ่งเป็นที่มาของความริเริ่มในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับธรรมชาติ (TNFD) และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ (TISFD)

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2017 เพื่อให้ข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกบรรจุเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2) ภายใต้มาตรฐาน IFRS (International Financial Reporting Standards) ที่จะมีการทยอยบังคับใช้โดยหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศตามความเหมาะสมและความพร้อมที่แตกต่างกัน

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับธรรมชาติ (Task Force on Nature-related Financial Disclosures: TNFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2023 เพื่อให้ข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สอดรับกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) ซึ่งได้ถูกรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) เพื่อใช้เป็นกรอบให้ประเทศภาคีจำนวน 196 ประเทศ นำไปจัดทำเป้าหมายชาติ และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ (Taskforce on Inequality and Social-related Financial Disclosures: TISFD) ได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสังคมและความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการออกกรอบการเปิดเผยข้อมูลฉบับแรกในปี ค.ศ. 2026

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือกรอบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะกิจ: ตระกูล TxFD ความหนา 38 หน้า ขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้องค์กรธุรกิจได้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวในบริบทของการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

องค์กรธุรกิจและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือฉบับดังกล่าว (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ทางเว็บไซต์ https://thaipat.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[Original Link]



ใช้ ISSB มาตรฐานเดียว ไม่พอตอบโจทย์ความยั่งยืน


กิจการที่ต้องการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมิได้สนใจเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน ยังคงมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพื่อให้ครอบคลุมตามอุปสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มดังกล่าว

ความจำกัดของข้อมูลทางการเงินที่กิจการเปิดเผยในรายงานทางการเงิน (Financial Statement) ที่ไม่สามารถให้ภาพที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอดีต เป็นเหตุให้หน่วยงานผู้จัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการรายงานทางการเงิน (IFRS) โดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISSB) จำเป็นต้องออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability-related Financial Disclosure) เพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์และปัจจัยการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป

โดยมาตรฐานฉบับที่ ISSB ประกาศใช้แล้ว ประกอบด้วย มาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (IFRS S1) และฉบับที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2)

มาตรฐาน IFRS S1 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปเมื่อผู้ใช้งบการเงินประเมินมูลค่าของกิจการ และตัดสินใจว่าจะจัดหาทรัพยากรให้กิจการหรือไม่ ทั้งนี้ กิจการที่เสนอรายงานต้องเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยในการประเมินความมีสาระสำคัญของรายการต้องประเมินในบริบทความจำเป็นของผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปในการประเมินมูลค่าของกิจการ

มาตรฐาน IFRS S2 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อให้เข้าใจวิธีที่กิจการใช้ทรัพยากรและปัจจัยต่าง ๆ กิจกรรม ผลได้ และผลลัพธ์ที่สนับสนุนการตอบสนอง และกลยุทธ์เพื่อจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ รวมทั้งเพื่อใช้ประเมินความสามารถของกิจการในการปรับแผนโมเดลธุรกิจ และการดำเนินงานตามความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่มีนัยสำคัญ

และเพื่อช่วยให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน IFRS ได้ออกเอกสารชี้แนะด้านความเสี่ยงและโอกาสเกี่ยวกับความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญ ที่มีชื่อว่า Sustainability-related risks and opportunities and the disclosure of material information สำหรับให้บริษัทใช้พิจารณาข้อเชื่อมโยงระหว่างรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน กับรายงานทางการเงินของบริษัท เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ส่วนบริษัทที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ในเอกสารได้ให้ข้อพิจารณาในการใช้มาตรฐาน ISSB ควบคู่กับมาตรฐาน ESRS หรือมาตรฐาน GRI เพิ่มเติม

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังอยู่ระหว่างจัดทำหลักการแนวทางการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตาม ISSB (International Sustainability Standards Board) หรือ ISSB Roadmap โดยมีแนวคิดที่จะกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตาม IFRS S1 และ S2 ด้วยวิธีการนำไปใช้เป็นลำดับและสัดส่วน (Phased-in Approach) พร้อมมาตรการผ่อนปรนช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Reliefs) เพื่อให้สอดรับกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงความพร้อมของภาคเอกชน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้บังคับในรอบปีบัญชี 2569 เป็นต้นไป (เริ่มจากบริษัทในกลุ่ม SET50 ก่อน) ทั้งนี้ บริษัทที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการ แบบ Voluntary Early Adoption ได้ก่อนปีที่มีการใช้บังคับ

ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ISSB Roadmap เพื่อนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา หน่วยงาน UN PRI ซึ่งเกิดจากโครงการภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ที่ให้คำแนะนำเรื่องการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และมีภาคีผู้ร่วมลงนามกว่า 5,200 รายทั่วโลก ได้ให้ความเห็นต่อแนวทางการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของไทย ตามมาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 ที่สำนักงาน ก.ล.ต. จัดทำขึ้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ความต้องการข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนต่อการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของบริษัทเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ลงทุนโดยรวม แต่ผู้ลงทุนอีกส่วนหนึ่งยังต้องการข้อมูลสำหรับใช้ประเมินผลกระทบของบริษัทและความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์และขีดระดับด้านความยั่งยืน

แม้มาตรฐาน ISSB ได้เอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ในบางส่วน แต่ยังจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลด้านผลกระทบ (Impacts) และการพึ่งพา (Dependencies) ของบริษัท ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับแนวทาง “Building Blocks” ของ ISSB สำนักงาน ก.ล.ต. ควรคำนึงถึงการขยายกรอบการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมไปถึงผลกระทบและการพึ่งพาของบริษัท ตามที่ควรจะเป็น ด้วยมาตรฐาน GRI คล้ายกับแนวทางที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป และกระทรวงการคลังจีน (อ้างอิง: https://www.unpri.org/consultations-and-letters/pri-response-to-thailand-sec-consultation-on-the-issb-roadmap/12969.article)


ISSB Building Block Approach

จะเห็นว่า ISSB Building Block เริ่มต้นจากการรายงานทางการเงินส่วนที่เป็นงบการเงิน (ตามมาตรฐาน IASB) ซึ่งเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้ลงทุน และเพิ่มเติมด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน (ตามมาตรฐาน ISSB) ซึ่งยังคงเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้ลงทุน โดยหากกิจการต้องการรายงานข้อมูลความยั่งยืนส่วนที่เป็นผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) จากการดำเนินงานที่มีต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นสำหรับผู้ใช้รายงานที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ควรใช้ข้อบังคับที่กำหนดโดยรัฐ (อาทิ มาตรฐาน ESRS) และ/หรือมาตรฐาน GRI

ด้วยการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุนเป็นพื้นฐาน และเพิ่มเติมมาสู่การเตรียมเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืนตามมาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ลงทุนในยุคปัจจุบัน กิจการที่ต้องการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมิได้สนใจเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน ยังคงมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยครอบคลุมถึงการพึ่งพาและผลกระทบสู่โลกภายนอกตามอุปสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มดังกล่าว


[Original Link]