แก้ไขโลกรวน อย่าให้เป็นเรื่องจวนตัว
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชาคมโลกได้เห็นพ้องร่วมกันตามความตกลงปารีส ที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 1.5 °C (เทียบกับระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศซึ่งเก็บจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 6 แหล่ง พบว่า ปี ค.ศ. 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.55 °C (± 0.13 °C) เกินกว่าระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นปีแรก และเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
แม้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สูงกว่า 1.5 °C ในปี ค.ศ. 2024 ยังมิใช่เครื่องชี้ว่า เป้าหมายตามความตกลงปารีสได้ถูกทำลายลง เพราะเป้าหมาย 1.5 °C หมายถึง อุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกในระยะ 20 ปี แต่ก็นับเป็นสัญญาณอันตราย หากยังปล่อยให้มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับนี้ต่อไป
งานวิจัยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ของสถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศ (PIK) ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการลดลงของรายได้ 19% ในอีก 25 ปีข้างหน้า จากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดนับจากวันนี้ก็ตาม โดยตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบทางภูมิอากาศมีมูลค่าอยู่ที่ 38 ล้านล้านเหรียญต่อปีโดยประมาณ ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 °C อยู่ถึง 6 เท่า
ในภาคธุรกิจ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จำแนกออกได้เป็น 3 ขอบข่าย คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานขององค์กร (ขอบข่ายที่ 1) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ขอบข่ายที่ 2) และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่า (ขอบข่ายที่ 3)
จากรายงาน Scope 3 Upstream Report ของ CDP (Carbon Disclosure Project) เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า ปริมาณการปล่อยมลอากาศที่มีสัดส่วนมากสุดเกิดขึ้นในขอบข่ายที่ 3 จากกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 26 เท่าของปริมาณการปล่อยมลอากาศในขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 รวมกัน
ฉะนั้น การที่องค์กรจะวางแผนจัดการเฉพาะมลอากาศจากการดำเนินงานและจากการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุ Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการวางแผนบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งครองสัดส่วนปริมาณมลอากาศที่มากสุดในบรรดากิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้น
จึงเป็นเหตุให้ในมาตรฐาน Corporate Net Zero ของ SBTi ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2024 กำหนดให้กิจการที่มีสัดส่วนมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เกินกว่า 40% ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยทั้งหมด จะต้องตั้งเป้าหมายระยะใกล้ (5-10 ปี) สำหรับการลดมลอากาศลงให้ได้สองในสาม (67%) ของปริมาณมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 2 °C เป็นอย่างน้อย ขณะที่การตั้งเป้าหมายระยะยาว (ปี ค.ศ. 2050) ต้องครอบคลุมการลดมลอากาศที่ปล่อยในขอบข่ายที่ 3 ให้ได้ 90% และสอดคล้องกับกรอบเพดานอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 °C
แม้จะมีความไม่ลงรอยในเป้าหมายด้านภูมิอากาศระหว่างประเทศ อันเป็นผลของการแทรกแซงจากการเมืองภายในประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง ซึ่งมีฐานความเชื่อในเรื่องโลกร้อนที่แตกต่างกัน กระทั่งทำให้เกิดฝ่ายที่ไม่ต้องการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ กับฝ่ายที่เห็นควรให้มีการดำเนินการกับผลกระทบทางภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อย่างเร่งด่วน เกิดเป็นความต่างขั้วทางภูมิอากาศ (Climate Polarization)
ผู้เขียนมีความเห็นว่าการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคนละไม้คนละมือ ตามวิสัยที่ตนดำเนินการได้ในกิจกรรมซึ่งส่งผลบวกต่อภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ย่อมดีกว่าการรอเวลาให้ธรรมชาติเป็นเครื่องพิสูจน์โดยที่ไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งอาจสายเกินไปเมื่อเวลานั้นมาถึง
[Original Link]