เปิดผลสำรวจความยั่งยืนของธุรกิจไทย ปี 67
นับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ริเริ่มสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2561 ขณะนั้นมีประชากรในกลุ่มสำรวจจำนวน 100 ราย และได้ทยอยเพิ่มกิจการที่ทำการสำรวจเรื่อยมาเป็นลำดับ จนในปีปัจจุบัน มีกิจการที่ได้ทำการสำรวจ อยู่จำนวน 930 ราย
วัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ เป็นไปเพื่อต้องการประมวลพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจไทย สะท้อนผ่านผลสำรวจของกลุ่มกิจการที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในมุมมองที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานสากล (GRI) การคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในบริบทของกิจการ
ผลสำรวจปี 67 ครอบคลุม 930 กิจการ
ในปี 2567 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 838 แห่ง กองทุนและกิจการอื่น ๆ อีก 92 ราย รวมทั้งสิ้น 930 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 904 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสังคม 52.68% ด้านสิ่งแวดล้อม 28.70% และด้านเศรษฐกิจ 18.62% ตามลำดับ
หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มธุรกิจการเงิน (4.98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (4.83 คะแนน) และกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี (4.73 คะแนน) ตามลำดับ
สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ การต้านทุจริต 83.33% อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 73.33% และการจ้างงาน 71.29% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ
ไฮไลต์ผลสำรวจความยั่งยืนที่น่าสนใจ
ในการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 930 ราย พบว่า ในปี 2567 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.13 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 คะแนน (ปี 2566 จากการสำรวจ 904 ราย) และ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย)
เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI พบว่ากิจการกว่าครึ่ง (52.15%) มีการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นมลอากาศ (Emissions) แต่มีเพียง 7.63% ที่มีการรายงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และพบว่า ยังมีไม่ถึง 10% ที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ส่งมอบ (Supplier Environmental / Social Assessment)
สำหรับการประเมินสาระสำคัญ (Materiality Assessment) เพื่อระบุประเด็นความยั่งยืนสำหรับการดำเนินงานและการรายงานของกิจการ พบว่า 61% ของกิจการที่ถูกสำรวจ ยังไม่มีการประเมินสาระสำคัญ ส่วนกิจการที่มีการประเมินสาระสำคัญมีจำนวน 37% และมีเพียง 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย (Double Materiality Assessment)
โดยในจำนวน 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย พบว่า มีกิจการถึง 4 ใน 5 แห่ง ที่ยังมีการประเมินสาระสำคัญสองนัย ไม่สอดคล้องตามหลักการที่ควรจะเป็น
สาระสำคัญสองนัย (Double Materiality) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ทวิสารัตถภาพ’ เป็นการระบุประเด็นสาระสำคัญตามนัยทางการเงิน (Financial) อันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และประเด็นสาระสำคัญตามนัยของผลกระทบ (Impact) อันเกิดจากการประกอบการที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับเป็นข้อมูลให้กิจการนำไปใช้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้กลายเป็นหลักการที่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ที่กำหนดให้กิจการซึ่งอยู่ในข่ายต้องดำเนินการตามหลักการดังกล่าว
โดยหลักการสำคัญ 2 ประการของทวิสารัตถภาพ ได้แก่ ประการแรก การประเมินประเด็นที่เป็นสาระสำคัญตามนัยทางการเงินและตามนัยของผลกระทบ ควรได้รับการพิจารณาให้ลำดับความสำคัญตามเกณฑ์ที่ขึ้นกับนัยนั้น ๆ แยกต่างหากจากกัน (ไม่ใช้เกณฑ์ร่วม) และประการที่สอง ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญมาจากการรวมประเด็น (Union) ที่ได้จากการประเมินว่าสำคัญในแต่ละนัย มิได้มาจากการคัดเฉพาะประเด็นสำคัญที่ตรงกัน (Intersection) ในทั้งสองนัย
สำหรับข้อมูลผลสำรวจอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ในเมนู ‘ความยั่งยืน’ ภายใต้หัวข้อ ‘รายงานสถานภาพความยั่งยืน’ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
[Original Link]