Who Cares Earns
นับตั้งแต่ที่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานชื่อ “Who cares wins” (ผู้ใดใส่ใจ ผู้นั้นมีชัย) ที่สนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น
รายงานฉบับดังกล่าว เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่ นายโคฟี อันนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาซีอีโอของสถาบันการเงินชั้นนำ 55 แห่ง เพื่อให้ช่วยหาวิธีในการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับตลาดทุน ฉะนั้น ต้นเรื่องของแนวคิด ESG จึงมาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน
โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญขณะนั้น คือ การผลักดันการผนวกเรื่อง ESG ผ่านบริษัทที่ลงทุน (Investees) ซึ่งคือ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก โดยหากบริษัทที่ลงทุนไม่สนใจหรือไม่ขานรับเรื่อง ESG ไปดำเนินการ ผู้ลงทุนอาจจะมีมาตรการในระดับขั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักการลงทุน การลดการถือครอง ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ออกจากพอร์ตการลงทุน
เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ และสะท้อนอยู่ในผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ จึงเป็นเหตุให้บริษัทจดทะเบียน ขยับตัวรับเรื่อง ESG มาดำเนินการ และต่อมาได้นำเอา ESG มาเป็นคำที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับผู้ลงทุนที่เป็นต้นเรื่อง
พัฒนาการของ ESG ในห้วงเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่การจัดทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติ (PRI) จวบจนถึงปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนจากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหลายกิจการเล็งเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)
นั่นหมายถึง กิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ ในระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ในระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ และในระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG
ในปี ค.ศ. 2024 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ผลักดันแนวคิด Who cares earns สู่เครือข่ายที่ร่วมทำงานในภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเล็งเห็นว่า จะก่อเกิดผลได้ในรูปแบบ ไตรสังสิทธิ* (Triple Bottom Line) ที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่ผู้ลงทุน กิจการ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ควบคู่ไปพร้อมกัน โดยมีเครื่องมือและแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนของกิจการ ที่จะพัฒนาออกมาเป็นระยะ ๆ อาทิ Double Materiality Matrix, ESG Premium ฯลฯ
--------------------------------------
* คำว่า สังสิทธิ ตามพจนานุกรม แปลว่า ผลสุดท้าย, ความสำเร็จ, ความเรียบร้อย, ความดีเลิศ