Double Materiality
Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เป็นการระบุประเด็นสาระสำคัญทางการเงินอันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และประเด็นสาระสำคัญของผลกระทบอันเกิดจากการกระทำขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับนำไปใช้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน
ทวิสารัตถภาพ เป็นเครื่องมือที่พัฒนาต่อยอดมาจากการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) ซึ่งเป็นการค้นหาและระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญที่บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการ อันถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผนวกการวิเคราะห์สารัตถภาพทางการเงินที่เป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Outside-in) เข้ากับการวิเคราะห์สารัตถภาพเชิงผลกระทบที่เกิดจากองค์กรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Inside-out)
สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม
► อ่านเพิ่มเติมในบทความ
- การพัฒนาความยั่งยืนจาก 'องค์กร' สู่ 'องค์รวม'
- เหรียญ 2 ด้านของความยั่งยืน
- หลักการชี้แนะสำหรับการรายงานความยั่งยืน
หลักการทวิสารัตถภาพ หรือ Double Materiality Principle ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในเอกสารแนวทางการรายงานข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน: ส่วนเสริมของการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้เสนอ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019
ปัจจุบัน คณะที่ปรึกษาการรายงานข้อมูลทางการเงินแห่งยุโรป (EFRAG) เป็นผู้จัดทำร่างข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSR Directive) รวมถึงหลักการทวิสารัตถภาพ แก่คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสนอต่อสภายุโรปให้บังคับใช้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับสำหรับการรายงานในรอบบัญชี ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป
ทำให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทขนาดใหญ่ราว 50,000 แห่ง ที่เข้าเกณฑ์ของ CSR Directive ต้องเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนตามหลักการทวิสารัตถภาพ และจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2026 รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ ตั้งแต่รอบบัญชี ปี ค.ศ. 2028 ตามลำดับ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาเนื้อหาและวิธีการประเมินทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Assessment) เป็นรายวิชา ระยะเวลา 1 วัน ทั้งในรูปแบบ In-House Program (จัดเฉพาะบุคลากรภายในองค์กร) และ Public Program (จัดรวมกับองค์กรอื่น) สำหรับกิจการที่ต้องการยกระดับการรายงานความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards)
• รายละเอียด Double Materiality Course
องค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถแสดงความจำนงรับบริการ Double Materiality Course ได้ที่คุณจินตนา จันสน อีเมล info@thaipat.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
แนะนำเครื่องมือ Double Materiality
กิจกรรมอบรม
กิจกรรมอบรมรายวิชา Double Materiality Course ถ่ายทอดเนื้อหาและวิธีการประเมินทวิสารัตถภาพตามแนวทางในมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) สำหรับผู้ที่มีวิชาชีพด้านความยั่งยืน และผู้ที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพเพื่อการทำงานในสาขาความยั่งยืน เมื่อวันพฤหัสที่ 8 สิงหาคม 2567