Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ESG Profile


ในธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เอกสารสำคัญสองชิ้นที่ทุกองค์กรต้องมี คือ Product Catalogue กับ Company Profile เอาไว้สำหรับนำเสนอลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างให้เกิดธุรกรรมตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้

หน้าที่ของ Product Catalogue มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (what) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร

ส่วนหน้าที่ของ Company Profile มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน

แต่ในวันนี้ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย มิได้คำนึงถึงเพียงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือที่องค์กรมอบให้ตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังพิจารณาเพิ่มต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้หรือองค์กรที่ตนเป็นลูกค้าอยู่นั้น สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรด้วย

ความต้องการในเอกสารหรือข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และองค์กรในมุมมองของการแสดงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลที่ดีของกิจการ ที่เรียกรวมว่าข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) จึงเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ ESG Report และมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะกิจการที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Equities) โดยในปัจจุบันมีกิจการอยู่นับหมื่นแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว

แต่ก็ใช่ว่า บริษัทนอกตลาดหรือกิจการที่มิได้มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equities) จะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นบริษัทนอกตลาดให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็นผลได้ (Benefits) มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว

ทว่าก็มีบริษัทนอกตลาดหลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูล ESG ดังกล่าว เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ เหมือนอย่างรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นด้าน ESG” หรือ ESG Profile เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจที่สะท้อนในรูปของกำไร (Profit) และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (People and Planet) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ESG Profile จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่นั้น ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)

เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท ESG Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ

ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน ESG Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากเรื่องความยั่งยืนในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร ESG Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส ESG ดังกล่าว

ESG Profile จึงสามารถพัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี สามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง ESG การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง ESG และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการ




พัฒนาการก่อนการจัดทำ ESG Private List

หน้าหลัก      ที่มา      ความสำคัญ      ตัวชี้วัด      ทำเนียบบริษัท

ในปี พ.ศ. 2557 สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้น เพื่อบุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ถัดมาในปี พ.ศ. 2558 ได้ริเริ่มจัดทำรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG100 List สำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี

และในปี พ.ศ. 2561 ได้จัดทำดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Indices ดัชนี ESG แรกในประเทศไทยที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed) เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ในหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ประเมินด้าน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ได้เพิ่มการจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากปัจจัย ESG ในฐานะบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน โดยพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ว่ามีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุน

และในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการจัดทำและประกาศรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Turnaround ในฐานะบริษัทวิถียั่งยืนที่มีผลประกอบการพลิกฟื้น ด้วยโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและมีปัจจัย ESG สนับสนุน

หน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มบริษัทนอกตลาด (Private Markets) และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนในประเทศไทย สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงาน ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป




ESG Private List

หน้าหลัก      ที่มา      ความสำคัญ      ตัวชี้วัด      ทำเนียบบริษัท

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาดทุกสาขา ไม่จำกัดอยู่เพียงกิจการที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังครอบคลุมถึงบริษัทนอกตลาด (Private Markets) หรือกิจการที่มิได้มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีบริษัทรายใหญ่ดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

ออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก คาดการณ์ว่า ตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG ทั่วโลก จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยด้านบริการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด จะมีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 42 ต่อปีในช่วงเดียวกัน

นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยการตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่อิงกับมาตรฐานสากล และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 แห่ง หรือที่เรียกว่า กลุ่มกิจการ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับบริษัทด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย และได้ดำเนินการประเมินมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

ด้วยแนวโน้มการเติบโตในความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาดที่เพิ่มขึ้น สถาบันไทยพัฒน์ จึงมีแนวคิดที่จะประเมินข้อมูลด้าน ESG และจัดทำรายชื่อกลุ่มกิจการ ESG Private List สำหรับบริษัทนอกตลาด เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนครอบคลุมกิจการทุกภาคส่วนในประเทศไทย